ในช่วงปี 2564 มีเหตุการณ์เพลิงไหม้เกิดขึ้นหลายแห่งในประเทศไทย สร้างความเสียหายอย่างหนักแก่ประชาชนบริเวณใกล้เคียงอย่างที่คาดไม่ถึง ดังนั้นเราทุกคนควรเรียนรู้วิธีป้องกันและเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุเกิดเพลิงไหม้จากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและสร้างปลอดภัย
ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แนะนำวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัยไว้ดังนี้
- ตั้งสติให้ดี อย่าตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์เบื้องต้นว่ามีความรุนแรงแค่ไหน
- เพลิงไหม้เล็กน้อย ให้ดับเพลิงด้วยตนเองในเบื้องต้นให้ได้ภายใน 2 นาที โดยใช้อุปกรณ์ใกล้ตัว หรือถังดับเพลิงเพื่อควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลาม
- เพลิงไหม้รุนแรง ให้รีบตะโกนบอก กดสัญญาณแจ้งให้ผู้อื่นทราบ พร้อมรีบอพยพออกจากพื้นที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ และรีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่เบอร์ 199 ทันที
- ห้ามหนีไฟขึ้นที่สูง แต่ให้หนีลงชั้นล่าง เพราะควันไฟและความร้อนจะลอยสูงขึ้น
- ห้ามใช้ลิฟท์ ควรหนีออกทางบันไดหนีไฟ หรือทางที่เจ้าหน้าที่ควบคุมเพลิงแนะนำ อย่ากระโดดลงจากตึก
- ก่อนออกจากห้อง หากลูกบิดประตูมีความร้อนสูง แสดงว่าเกิดเพลิงไหม้บริเวณใกล้เคียง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะเพลิงจะลุกเข้ามาในห้องได้ ปิดห้องให้สนิทใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันลอย ปิดเครื่องปรับอากาศและพัดลม รีบโทรแจ้งเจ้าหน้าที่ บอกตำแหน่งที่อยู่ให้ชัดเจน และรอรับการช่วยเหลือ
- หากจำเป็นต้องหนี ฝ่าควันไฟออกมา ให้หมอบคลานใกล้พื้น ห้ามวิ่งออกไป เพราะอาจสำลักควันและขาดอากาศหายใจได้ ควรหาถุงพลาสติกครอบ เอาอากาศบริสุทธิ์ครอบศีรษะ และคลานต่ำหรือใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกเพื่อป้องกันสำลักควัน
**ควันไฟเป็นเหตุที่ทำให้คนส่วนใหญ่เสียชีวิตมากกว่าเปลวไฟถึง 3 เท่า** - ห้ามหลบอยู่ในจุดที่อับในอาคาร เช่น ห้องใต้ดิน เพราะจะทำให้การช่วยเหลือเป็นไปด้วยความยากลำบาก
- ห้ามอพยพเข้าไปในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ อาจทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิต
- ห้ามอพยพขึ้นไปบนดาดฟ้าอาคาร เพราะไฟลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย
- หากไฟไหม้เสื้อผ้า ให้กลิ้งตัวกับพื้น อย่าวิ่งเด็ดขาด เพราะไฟจะลุกลามเร็วขึ้น และให้รีบถอดเสื้อผ้าออก
- หากสามารถออกมาจากอาคารได้แล้ว แต่พบว่ามีคนยังติดอยู่ในอาคาร ห้าม!! กลับเข้าไปเด็ดขาด ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทำการช่วยเหลือ
🏥 กรณีที่ถูกไฟไหม้ ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้
- ใช้น้ำราดเพื่อดับไฟ หรือใช้ผ้าหนาๆ คลุมตัว ถอดเสื้อผ้าที่ถูกไฟไหม้ พร้อมเครื่องประดับที่สะสมความร้อนออกให้หมด
- ถ้าบาดเจ็บมีเลือดออกควรห้ามเลือดก่อน
- ทำการระบายความร้อนออกจากแผล ด้วยการนำผ้าชุบน้ำแล้วนำมาประคบบริเวณบาดแผล หรือจะแช่ลงในน้ำหรือให้น้ำไหลผ่านบริเวณบาดแผลตลอดเวลา ประมาณ 10 นาที จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดให้ลดลงได้
- ทายาบริเวณแผล และนำผ้าสะอาดมาปิดแผล เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ห้ามเจาะส่วนที่พองออกเด็ดขาด
- หากแผลมีบริเวณกว้างหรืออยู่ใกล้อวัยวะที่สำคัญรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที
ไม่มีใครอยากให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้น One Chat News จึงอยากให้ทุกคนมีความรู้ที่พร้อมรับมือกับเหตุเพลิงไหม้ จะได้ป้องกันตัวเองและคนรอบข้างอย่างถูกวิธีและปลอดภัย 💙💚
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.), กองปราบปราม