จากรายงานสถานการณ์อุทกภัยภายในประเทศทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องจากอิทธิพลของ “พายุเตี้ยนหมู่” ส่งผลให้อย่างน้อย 20 จังหวัดได้รับผลกระทบ จากปัญหาดังกล่าวทำให้บ้านเรือนประชาชนในหลายพื้นที่จมอยู่ใต้บาดาล สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือนประชาชนและขยายเป็นวงกว้าง ☔
หากไม่มีการระบายน้ำที่ดี อาจทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมขัง น้ำเน่าเสีย นำมาซึ่งโรคภัยและเชื้อโรคต่างๆ ได้ แต่ยังมีอีกหนึ่งโรคที่มีความรุนแรงและเกิดเป็นประจำทุกปี นั่นก็คือ “โรคฉี่หนู” ดังนั้น เรามาทำความรู้จักและรู้วิธีป้องกัน “โรคฉี่หนู” 🐀 ไปพร้อมกัน
“โรคฉี่หนู” หรือ “โรคเลปโตสไปโรสิส (Leptospirosis)” มาจากเชื้อแบคทีเรียที่ติดมาจากสัตว์สู่คน 🐁➡👩🦰 ซึ่งสามารถติดได้จากสัตว์หลายชนิด อาทิ วัว ควาย แพะ หรือแกะ ไม่ได้เจาะจงเจอแค่เฉพาะในหนูเท่านั้น เชื้อชนิดนี้มักปนเปื้อนอยู่ในแหล่งน้ำ ลำคลอง หรือตามแอ่งน้ำเล็กๆ เมื่อเราเดินย่ำน้ำ เชื้ออาจจะไชเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผลเล็กๆ ที่เท้า และสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานานๆ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย หรือแช่น้ำเป็นระยะเวลานาน ๆ มีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคฉี่หนูได้
โรคฉี่หนูนั้น ใช้เวลาในการฟักตัว 1- 2 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 3 สัปดาห์
สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม สามารถจำแนกผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ดังนี้
กลุ่มที่แสดงอาการ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะบริเวณหลัง น่อง และต้นคอ หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ไอ หรืออาการอื่นคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งถ้าติดเชื้อแล้วรีบมารับการรักษาก็จะหายจากโรคนี้ได้อย่างรวดเร็ว และ
กลุ่มที่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ตาเหลือง ตัวเหลือง ไขสันหลัง หรือสมองอักเสบ ความดันโลหิตต่ำ เลือดออกผิดปกติ แม้จะพบน้อยมาก แต่ก็มีความสำคัญ เพราะอาจทำให้เสียชีวิตได้ หากไม่รับการรักษาอย่างทันท่วงที
โรคนี้รักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น เพนนิซิลิน ( penicillin) เตตร้าซัยคลิน (tetracycline) สเตร็ปโตมัยซิน (streptomycin) หรือ อิริทรอมัยซิน (erythromycin) ควรได้รับยาภายใน 4-7 วันหลังเกิดอาการ และควรได้รับน้ำและเกลือแร่อย่างเพียงพอ โดยปกติแล้วโรคฉี่หนูจะสามารถเป็นแล้วหายเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรงแพทย์จะทำการฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือดโดยตรง และต้องนอนเพื่อดูอาการที่โรงพยาบาลเพราะเชื้อดังกล่าวอาจส่งผลให้อวัยวะนั้น ๆ หยุดทำงานได้
แม้ว่าโรคฉี่หนูจัดว่าเป็นโรคที่อันตราย แต่การรักษาและวิธีป้องกันทำได้ไม่ยาก อาทิ งดการแช่ในน้ำหรือเลี่ยงการเดินลุยในบริเวณน้ำท่วมขัง, สวมกางเกงกันน้ำ หรือถุงมือกันน้ำ เมื่อต้องสัมผัสน้ำ, หมั่นล้างมือล้างเท้าด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ, ระวังน้ำไม่สะอาดกระเด็นเข้าปาก ตา หรือ จมูก, ดูแลทำความสะอาดบริเวณที่พักให้สะอาด, รับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่และร้อนอยู่เสมอ เป็นต้น
อ้างอิงข้อมูลจาก : https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=931 และ กรมควบคุมโรค