Loading...
ข่าว

ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิตที่ชาวออฟฟิศต้องรู้

ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร?

ออฟฟิศซินโดรม หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) คือ อาการปวดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น (Tendinitis) จากการใช้งานของกล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาการเหล่านี้มักพบได้บ่อยในผู้ที่นั่งทำงานในออฟฟิศ จากการนั่งทำงานต่อเนื่องกับคอมพิวเตอร์ โดยไม่ได้ปรับเปลี่ยนท่าทางหรืออริยาบท จนทำให้เกิดอาการปวดสะสมและกลายเป็นปวดเรื้อรังในที่สุด

อาการของออฟฟิศซินโดรม

  1. ปวดกล้ามเนื้อบริเวณส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น คอ, บ่า, ไหล่ สะบัก และ หลัง ส่วนใหญ่มักพบอาการปวดเป็นบริเวณกว้าง หรือบางครั้งไม่สามารถบอกตำแหน่งที่มีอาการปวดได้อย่างชัดเจน โดยผู้ป่วยบางรายอาจพบอาการปวดร้าวไปยังตำแหน่งต่างๆของร่างกายได้ อาการปวดอาจมีน้อยไปหามาก ซึ่งมักจะทำให้เกิดความรำคาญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือในขณะปฏิบัติงาน
  2. อาการทางระบบประสาทที่ถูกกดทับ เช่น อาการชาบริเวณแขน, มือ และปลายนิ้ว รวมถึงอาการอ่อนแรง หากมีการกดทับเส้นประสาทนานจนเกินไป

สาเหตุหลักของออฟฟิศซินโดรม

การใช้งานกล้ามเนื้อ และข้อต่อที่ผิดไปจากภาวะปกติ จากการทำงานในพื้นที่จำกัด และขาดการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ได้แก่

  • นั่งไขว่ห้าง
  • นั่งหลังงอ หลังค่อม
  • นั่งเบาะเก้าอี้ไม่เต็มก้น
  • ยืนแอ่นพุง/ยืนหลังค่อม
  • สะพานกระเป๋าหนักข้างเดียว

ออฟฟิศซินโดรม ป้องกันได้ ‘แค่เปลี่ยนพฤติกรรม’

  1. ออกกำลังกายด้วยท่าที่เหมาะสมกับอาการ เช่น การยืดกล้ามเนื้อให้เกิดความยืดหยุ่น การออกกำลังเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ โดยต้องอาศัยความใส่ใจและความสม่ำเสมอ
  2. ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงาน เช่น ปรับระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้ ให้สามารถนั่งทำงานในท่าที่สบาย ปรับหน้าจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับสายตา
  3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้งานกล้ามเนื้อให้เหมาะสม เช่น ในระหว่างทำงานควรมีการยืดเหยียดหรือเปลี่ยนอิริยาบถเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้ออย่างน้อยทุกๆ 1 ชั่วโมง

ใครที่อ่านจบแล้วรู้สึกว่าตนเองมีอาการเข้าข่ายการเป็นออฟฟิศซินโดรม อย่าปล่อยทิ้งไว้ ให้ลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเองว่า กิจกรรมใดที่เป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อย และควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้สามารถหายขาดจากอาการปวด และช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดออฟฟิศซินโดรมได้

ขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์